วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

++ นิทาน ++

นิทาน คือเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้เห็นความบันเทิงแทรก แนวคิด คติสอนใจ จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ อย่างหนึ่ง นิทานเป็นอาหารทางใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ นิทานเป็นแหล่งรวบรวมจินตนาการและความฝัน นิทานเป็นทางออกทางใจของมนุษย์ ทำให้มีความสุขและช่วยผ่อนคลายความทุกข์ในใจได้ อาจเรียกนิทาน พื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง นิทานชาวบ้าน เป็นต้น เเละนิทานเป็นเรื่องที่เล่ากันสืบต่อ ๆ มา ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังด้วยมุขปาฐะ

ที่มาของนิทาน

1. มาจากความต้องการให้เกิดความสนุกสนาน บันเทิง จึงผูกเรื่องขึ้นหรือ นำเรื่องไปผสมผสานกับเรื่องที่มีอยู่เดิม

2. มาจากความต้องการอบรมสั่งสอน ในแง่ของพุทธศาสนาให้ความรู้ ด้านคติธรรม เพื่อให้การอบรมสั่งสอนให้คนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในกฏระเบียบของสังคม เช่น นิทานธรรมบท นิทานอีสป เป็นต้น

3. มาจากการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย จึงมีการสมมุติเรื่องราวขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น


นิทานที่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานี้จะมีลักษณะเฉพาะ

1. จะต้องเป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา ใช้ภาษาชาวบ้านทั่วไป


2. เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในตอนหลังอาจนำมาเขียนขึ้นตามที่เล่าไว้


3. ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนเล่าดั้งเดิม เป็นแต่รู้ว่าเคยได้ยินได้ฟังมา หรือเขาเล่าว่าหรือบรรพบุรุษเป็นผู้เล่าให้ฟัง


การแบ่งนิทาน

มีผู้ศึกษานิทานและพยายามจัดหมวดหมู่หรือแบ่งแยกเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ซึ่งแบ่งได้หลายวิธี ดังนี้

1. แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ คือ พบนิทานที่ถิ่นใดก็เป็นของถิ่นนั้น เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศนับถือศาสนาอิสลาม เขตชนชาติยิวในเอเซียไมเนอร์ เป็นต้น

2. แบ่งนิทานตามแบบของนิทาน แบ่งออกได้ ดังนี้

2.1 นิทานปรัมปรา

2.2 นิทานท้องถิ่น แยกย่อยเป็น

- นิทานอธิบายสิ่งต่าง ๆ

- นิทานเกี่ยวกับความเชื่อ

- นิทานวีรบุรุษ

- นิทานนักบวช

- นิทานเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้

- นิทานสอนใจ

2.3 เทพนิยาย

2.4 นิทานสัตว์ แบ่งเป็น

- นิทานสอนคติธรรม

- นิทานเล่าไม่รู้จบ

2.5 นิทานตลก

3. แบ่งนิทานตามชนิดของนิทาน เป็นการแบ่งตามแบบที่ 2 ที่แบ่งให้ย่อยแต่ละชนิดละเอียดลงไปอีก

4. แบ่งนิทานตามสารัตถะของนิทาน หมายถึงการพิจารณาที่ "แก่น" (element)ของนิทาน เป็นหลัก ในการจัดหมวดหมู่นิทาน การแบ่งโดยใช้ "แก่น" ของนิทานนี้จะแบ่งได้ละเอียดที่สุดในที่นี้จะกล่าวถึงนิทานชาวบ้านตามแบบที่ 2 เพราะส่วนใหญ่นิยมใช้และเข้าใจได้ดี


ที่มา : http://www.panyathai.or.th